ผู้ชนะสิบทิศ
เป็นนิยายปลอมพงศาวดารที่ถ่ายทอดเรื่องราวของบุเรงนอง ยอดคนแห่งยุคนั้น
พระเจ้าบุเรงนองก่อนขึ้นครองราชย์ มีสถานะเป็นแม่ทัพคนสำคัญของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พระนามของพระเจ้าบุเรงนอง ออกเสียงตามสำเนียงพม่าว่า "บาเยงนอง" มีความหมายว่า "พระเชษฐาธิราช" และมีพระนามเต็มว่า "บาเยงนองจอเดงนรธา" (ไทยเรียกเพี้ยนเป็น "บุเรงนองกะยอดินนรธา") แปลว่า "พระเชษฐาธิราชผู้ทรงกฤษดาภินิหาร" โดยพระนามนี้ เชื่อว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พระราชทานให้ หลังจากพระเจ้าบุเรงนองชนะศึกนองโย อันเป็นศึกไล่ตามทัพของพระเจ้าสการะวุตพี กษัตริย์มอญ ที่เสียกรุงหงสาวดีให้แก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ อันเป็นเกียรติประวัติที่เลืองลือครั้งแรก ๆ ของพระองค์
พระเจ้าบุเรงนอง นับว่าเป็นกษัตริย์พม่าที่ทางพม่านับว่า เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ 1 ใน 3 พระองค์ ด้วยความเป็นกษัตริย์นักรบอันเป็นที่ปรากฏพระเกียรติเลื่องลือ โดยยุคสมัยของพระองค์ อาณาจักรตองอูเข้มแข็งและแผ่ไพศาลอย่างที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่ลุ่มน้ำอิระวดีจนถึงลุ่มแม่น้ำโขง มีประเทศราชต่าง ๆ มากมายในภูมิภาคอุษาคเนย์ ได้แก่ หงสาวดี, ล้านช้าง, ไทยใหญ่, เขมร, ญวน, อยุธยา, เชียงใหม่ เป็นต้น
ไม่เพียงแต่มิติของการเป็นนักรบเท่านั้น พระเจ้าบุเรงนองยังถือว่าเป็นกษัตริย์นักปกครองและบริหารที่เก่งกาจอีกด้วย ด้วยการสามารถปกครองและบริหารข้าทาสบริวารมากมาย ทั้งของพระองค์เองและของประเทศราช เช่น การยึดเอาพระราชวงศ์ที่สำคัญ ๆ ของประเทศราชต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในพระราชวังเพื่อเป็นองค์ ประกัน เป็นต้น
พระเจ้าบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2124 ด้วยอาการพระประชวร ขณะยกทัพไปตียะไข่ ปัจจุบัน อนุสาวรีย์ของพระองค์มีต่าง ๆ มากมายหลายที่ในประเทศพม่า
ด้วยชีวประวัติอันพิสดาร และน่าสนใจ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์พม่าช่วงนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนชาวไทย ยาขอบ ได้หยิบยกขึ้นมาแต่งเป็นนิยายปลอมพงศาวดารชื่อดัง คือ ผู้ชนะสิบทิศ